รู้ทันปัญหา "ภาวะลำไส้รั่ว" ต้นเหตุของปัญหาสุขภาพที่ คาดไม่ถึง

Last updated: 9 มิ.ย. 2566  |  1838 จำนวนผู้เข้าชม  | 

รู้ทันปัญหา "ภาวะลำไส้รั่ว" ต้นเหตุของปัญหาสุขภาพที่ คาดไม่ถึง

"You are what you eat … กินอย่างไรก็เป็นอย่างนั้น"
"All disease begins in the gut … โรคภัยไข้เจ็บทั้งหลายเริ่มต้นที่ลำไส้"

    ดูเหมือนคำกล่าวเหล่านี้จะเริ่มสะท้อนความจริงด้านสุขภาพของคนในสังคมปัจจุบันมากขึ้น เพราะทุกสิ่งที่เรารับประทานเข้าไป ล้วนต้องผ่านการย่อยและดูดซึมที่ลำไส้เล็กทั้งสิ้น ผนังลำไส้เล็กจึงเสมือนเป็นปราการคัดกรองสารเข้าสู่ร่างกาย แต่ด้วยวิถีชีวิตที่เร่งรีบ ส่งผลให้คนส่วนใหญ่ละเลยความสำคัญในการเลือกรับประทานอาหาร พฤติกรรมการรับประทานอาหารเดิม ๆ ซ้ำ ๆ โภชนาการที่ไม่ดี และปริมาณสารพิษตกค้างเกินกำหนดในอาหาร ล้วนส่งผลต่อความไม่สมดุลของจุลินทรีย์ในลำไส้ จนทำให้คนจำนวนไม่น้อยต้องทนทุกข์ทรมานจากอาการของ "ภาวะลำไส้รั่ว"

"ภาวะลำไส้รั่ว (Leaky Gut Syndrome)" คืออะไร?
เมื่อเกิดลำไส้รั่วแล้วอาหารจะหลุดออกมานอกลำไส้ เป็นความเข้าใจที่ไม่ถูกต้อง สำหรับในคนปกติ เซลล์เยื่อบุผนังลำไส้จะเรียงตัวชิดติดกันเป็นระเบียบ เรียกว่า "Tight Junctions" (ภาพด้านล่าง ซ้าย) เพื่อทำหน้าที่ควบคุมการผ่านเข้าออกของสารและป้องกันไม่ให้สารพิษ เชื้อก่อโรค หรือสิ่งแปลกปลอมผ่านเข้าสู่กระแสเลือดได้โดยตรง แต่เมื่อเซลล์เยื่อบุผนังลำไส้เกิดการอักเสบ (Inflammation) เกิดความเสียหายต่อ Tight junctions ทำให้เกิดช่องว่างระหว่างเซลล์ (ภาพด้านล่าง ขวา)

เซลล์จึงสูญเสียความสามารถในการควบคุมการผ่านเข้าออกของสาร บรรดาสารพิษ สารก่อภูมิแพ้ และเชื้อก่อโรคจึงสามารถเล็ดลอดผ่านช่องว่างเหล่านี้เข้าสู่กระแสเลือดได้โดยไม่ผ่านการกรอง การเพิ่มขึ้นของความสามารถในการให้สารผ่านเข้าออกผนังลำไส้นี้ เรียกว่า "ภาวะลำไส้รั่ว" หรือ "Leaky Gut Syndrome" ร่างกายจึงต้องเร่งสร้างภูมิคุ้มกันขึ้นมาต่อต้านสิ่งแปลกปลอมเหล่านี้ จนก่อให้เกิดปัญหาการอักเสบเรื้อรังซ้ำซากและกลายเป็นอาการเจ็บป่วยตามมา
เหตุใดจึงเกิด "ภาวะลำไส้รั่ว" ?
    ปัจจุบันยังไม่ทราบสาเหตุที่แน่ชัดของการเกิดภาวะลำไส้รั่ว แต่คงหนีไม่พ้นปัจจัยเสี่ยงจากสิ่งที่ต้องสัมผัสกับลำไส้อยู่เป็นประจำอย่างอาหารและยา โดยเฉพาะอาหารแปรรูป อาหารที่มีแป้งและน้ำตาลสูง แต่มีเส้นใยไฟเบอร์ต่ำ ซึ่งนอกจากจะส่งผลให้ร่างกายสร้างกรดขึ้นมาทำลายผนังลำไส้แล้ว ยังเป็นแหล่งอาหารให้จุลินทรีย์ก่อโรคเพิ่มจำนวนมาก่อกวนผนังลำไส้จนรั่วในที่สุด นอกจากนี้ อาหารบางชนิด เช่น แลคโตส (Lactose) ในผลิตภัณฑ์จากนมวัว กลูเตน (Gluten) ในข้าวสาลี ขนมปัง และเลคติน (Lectin) ในผลิตภัณฑ์จากถั่ว ถั่วเหลือง เต้าหู้  ก็เป็นตัวขัดขวางกระบวนการย่อยอาหารภายในลำไส้เช่นกัน


พฤติกรรมการดำเนินชีวิตของคนในยุคปัจจุบันก็เป็นอีกหนึ่งปัจจัยเสี่ยงที่สำคัญไม่แพ้กัน ไม่ว่าจะเป็นความเครียดเรื้อรัง การพักผ่อนไม่เพียงพอ การสูบบุหรี่ การดื่มแอลกอฮอล์ และพฤติกรรมการบริโภคอาหารเดิม ๆ ซ้ำ ๆ เป็นประจำ ซึ่งนอกจากจะทำให้ร่างกายไม่ได้รับสารอาหารอย่างครบถ้วนแล้ว ยังทำให้ลำไส้ต้องสัมผัสกับสารพิษตกค้างจากอาหารนั้นเข้าไปสะสมตลอดเวลา จนถึงระดับที่เป็นอันตรายต่อผนังลำไส้ได้

 

อาการเตือน "ลำไส้รั่ว" แล้วนะ!

อาการที่บ่งบอกว่าคุณอาจมีภาวะลำไส้รั่ว ได้แก่

  • มีแก๊สในทางเดินอาหารมากผิดปกติ
  • มีอาการท้องอืดอาหารไม่ย่อยเป็นประจำ
  • เหนื่อยเพลียง่ายทั้งๆ ที่พักผ่อนเพียงพอ
  • มือเท้าเย็นโดยไม่ได้มีความผิดปกติของโรคต่อมไร้ท่ออื่นๆ (เช่น ไทรอยด์)
  • ปวดศีรษะหรือปวดตามข้อไม่ทราบสาเหตุ
  • แพ้อาหารแฝง (การแพ้อาหารแฝง จะไม่ได้แสดงอาการแพ้หลังรับประทานอาหารทันที มักจะมีอาการแต่เพียงน้อยๆ จนไม่ทันสังเกต เช่น บางครั้งเราอาจรู้สึกท้องอืด แน่นท้อง อ่อนเพลีย มีผื่นคันเล็กน้อยและหายไปได้เอง)
  • น้ำหนักขึ้นง่ายผิดปกติ
  • มีผื่นหรือเป็นสิวเรื้อรังรักษาไม่หาย

อาการเบื้องต้นที่ดูไม่น่าอันตรายเหล่านี้อาจมีสาเหตุมาจากภาวะลำไส้รั่วร่วมด้วย โดยพบว่าเมื่อทำการรักษาภาวะลำไส้รั่วแล้ว อาการดังกล่าวก็จะสามารถทุเลาลงไปได้ ซึ่งหากอาการเหล่านี้ทวีความรุนแรงมากขึ้นจนเริ่มรบกวนชีวิตประจำวันแล้ว ขอแนะนำให้รีบไปปรึกษาแพทย์เพื่อรับการวินิจฉัยและรักษาอย่างถูกต้องต่อไป

"ภาวะลำไส้รั่ว" รักษาหาย ป้องกันได้
ปัจจุบันยังไม่มีแนวทางปฏิบัติในการรักษาภาวะลำไส้รั่วที่เป็นมาตรฐาน อย่างไรก็ตาม การศึกษาวิจัยส่วนใหญ่จะมุ่งเน้นที่การปรับเปลี่ยนพฤติกรรมการบริโภคอาหารและการใช้ชีวิตประจำวันเป็นหลัก เพื่อปรับสมดุลภายในลำไส้ให้ทำงานได้เป็นปกติ
1.  งดอาหารที่ก่อให้เกิดการแพ้ เป็นเวลา 3-6 เดือน เพื่อให้ร่างกายเกิดกลไกการกำจัดแอนติบอดี้ที่ถูกสร้างขึ้นจากการกระตุ้นโดยอาหารที่ก่อให้เกิดการแพ้ออกไปได้หมดจากร่างกาย ซึ่งจัดเป็นการแก้ปัญหาที่สาเหตุโดยแท้จริง
2.  เปลี่ยนโภชนาการ โดยหลีกเลี่ยงผลิตภัณฑ์เนื้อสัตว์แปรรูป ลดการบริโภคแป้งและน้ำตาล เพิ่มการรับประทานอาหารที่มีเส้นใยไฟเบอร์ เช่น พืชผักใบเขียวและผลไม้ไม่หวาน เพื่อช่วยกระตุ้นการทำงานของระบบทางเดินอาหาร
3.  ปรับพฤติกรรมการใช้ชีวิต ได้แก่ การรับประทานอาหารให้หลากหลาย เพื่อลดความเสี่ยงจากการที่ลำไส้ต้องสัมผัสสารเคมีชนิดเดิมเป็นเวลานาน ๆ การเลิกสูบบุหรี่ การงดดื่มแอลกอฮอล์ การลดความเครียด เนื่องจากความเครียดสามารถกระตุ้นให้ร่างกายหลั่งฮอร์โมน Cortisol ออกมา ซึ่งจะส่งผลให้เกิดการอักเสบของเซลล์ลำไส้ได้ และการนอนหลับพักผ่อนให้เพียงพอ เพราะช่วงเวลาที่เรานอนหลับสนิทจะเป็นช่วงเวลาที่ร่างกายหลั่ง Growth hormone ออกมาซ่อมแซมทุกเซลล์ในร่างกายได้ดีที่สุด
4.  ใช้ยาสมเหตุผล ลดการใช้ยาพร่ำเพรื่อจากการเจ็บป่วยเล็กน้อย เช่น ลดการใช้ยาปฏิชีวนะในโรคหวัดเจ็บคอ โรคท้องเสีย และแผลเลือดออก หากจำเป็นต้องได้รับยาปฏิชีวนะเพื่อรักษาโรค ต้องรับประทานยาครบตามจำนวนและระยะการรักษา ตามที่แพทย์สั่งอย่างเคร่งครัด หรือปรึกษาเภสัชกรก่อนซื้อยาปฏิชีวนะมารับประทานเอง
5.  ผลิตภัณฑ์เสริมอาหารที่เป็นประโยชน์ต่อลำไส้
    จุลินทรีย์ดีที่มีประโยชน์ต่อลำไส้ (Probiotic) และอาหารเลี้ยงจุลินทรีย์ดี (Prebiotic) เช่น จุลินทรีย์ตระกูล Lactobacillus sp. หรือตระกูล Bifidobacterium sp. ซึ่งจะช่วยเกื้อกูลจุลินทรีย์ดีและทำลายเชื้อก่อโรคในลำไส้ นอกจากนี้ การรับประทานอาหารจำพวกอุดมไปด้วยสารFructooligosaccharides (FOS) และ Xylo-oligosaccharides (XOS) หรือ ไฟเบอร์ จะช่วยเสริมให้จุลินทรีย์ดีในร่างกายเจริญเติบโตแข็งแรงสมบูรณ์

ในอดีตคนส่วนใหญ่เชื่อกันว่า ถ้าอยากมีสุขภาพดีและอายุยืนยาว ต้องดูแลใส่ใจกับอวัยวะอย่างหัวใจ ตับ ไต ปอด หรือสมองให้ดี น้อยคนนักที่จะใส่ใจหรือแม้แต่จะเข้าใจ "ลำไส้" ทั้งที่มันเป็นอวัยวะที่ชี้เป็นชี้ตายของชีวิตเราได้เลยทีเดียว ปัจจุบันมีการศึกษาวิจัยมากมายมายที่ค้นพบว่า "ลำไส้" ไม่ได้เป็นเพียงเป็นอวัยวะย่อยอาหารเท่านั้น แต่ยังมีระบบประสาทที่ซับซ้อนที่สุดรองจากสมอง จนได้รับการขนานนามว่าเป็น "สมองที่ 2" เนื่องจากลำไส้สามารถปลดปล่อยฮอร์โมนต่าง ๆ ที่ไปมีผลต่ออวัยวะทั้งหมดของร่างกาย รวมถึงเชื่อมโยงการทำงานกับระบบภูมิคุ้มกัน หรือแม้แต่สมองได้ อย่างที่เห็นกันแล้วว่า "ลำไส้" ก็เป็นอวัยวะที่มีความสำคัญไม่แพ้อวัยวะอื่นเลย เพราะฉะนั้น ในทุก ๆ วัน เราต้องไม่พลาดการเลือกบริโภคแต่อาหารที่มีประโยชน์ให้หลากหลาย เพื่อช่วยเพิ่มจุลินทรีย์ดีในลำไส้ หลีกเลี่ยงการบริโภคน้ำตาลและอาหารแปรรูป ลดการใช้ยาปฏิชีวนะพร่ำเพรื่อ งดบุหรี่และแอลกอฮอล์ เพราะปัจจัยเหล่านี้ล้วนเป็นตัวการเพิ่มเชื้อก่อโรคที่ส่งผลเสียต่อลำไส้ของเรานั่นเอง

 

 

Powered by MakeWebEasy.com
เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ เพื่อเพิ่มประสิทธิภาพและประสบการณ์ที่ดีในการใช้งานเว็บไซต์ของท่าน ท่านสามารถอ่านรายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว  และ  นโยบายคุกกี้