เช็คอาการปวดศีรษะ แบบไหนใช่ COVID-19

Last updated: 24 มี.ค. 2567  |  761 จำนวนผู้เข้าชม  | 

เช็คอาการปวดศีรษะ แบบไหนใช่ COVID-19

          อาการปวดศีรษะ เป็นอีกหนึ่งอาการทางสมองและระบบประสาทที่สามารถพบได้บ่อยในผู้ป่วยที่ติดเชื้อ COVID-19 และ ผู้ที่ได้รับวัคซีน COVID-19

          นพ.กีรติกร ว่องไววาณิชย์ อายุรแพทย์โรคสมองและระบบประสาท กล่าวว่า อาการปวดศีรษะเป็นอาการทางระบบประสาทที่เจอได้บ่อยในผู้ติดเชื้อ COVID-19 โดยสามารถพบผู้ป่วยที่มีอาการได้มากถึง 30% และอาการปวดมักจะพบภายใน 7 วันแรกหลังจากการติดเชื้อ โดย

- อาการปวดศีรษะเกิดขึ้นอย่างรวดเร็ว
- ความรุนแรงของอาการปวด ปานกลางถึงมาก
- มักไม่ตอบสนองต่อยาแก้ปวด หรือมีอาการปวดซํ้าหลังจากยาแก้ปวดหมดฤทธิ์
- ลักษณะการปวด จะเป็นการปวดแบบบีบรัดที่บริเวณขมับ หน้าผาก รอบกระบอกตาทั้ง 2 ข้าง หรือปวดทั่วทั้งศีรษะ ซึ่งอาจจะพบลักษณะการปวดแบบปวดตุบๆ คล้ายกับเส้นเลือดเต้นได้
- การโน้มศีรษะไปด้านหน้า การไอ การจามและการออกแรงจะทำให้อาการปวดศีรษะรุนแรงขึ้น
- อาการปวดสามารถเกิดขึ้นได้นานถึง 2 สัปดาห์

สาเหตุของอาการปวดศีรษะ สามารถสันนิษฐานได้ว่าอาจเกิดจาก

- เชื้อไวรัสเข้าสู่สมองโดยตรง โดยผ่านปลายเส้นประสาทคู่ที่ 5 (trigeminal nerve) จากในโพรงจมูก ทำให้เกิดสัญญาณความปวดส่งมาที่ศีรษะ
- การที่เชื้อไวรัสไปกระตุ้นร่างกายให้สร้างสารการอักเสบ ซึ่งมีผลโดยตรงกับระบบนำความปวดในสมอง ทำให้เกิดอาการปวดศีรษะขึ้นมาได้

          ทั้งนี้สามารถแยกอาการปวดศีรษะที่เกิดจากการได้รับเชื้อ COVID-19 กับการปวดศีรษะด้วยสาเหตุอื่นได้ด้วยการสังเกตอาการที่เกิดร่วมด้วย ดังนี้

- ผู้ที่ติดเชื้อโควิด-19 นอกจากจะมีอาการปวดศีรษะแล้ว จะมีอาการเวียนศีรษะ มีไข้ จมูกไม่ได้กลิ่น ลิ้นไม่รับรส ไอ หอบเหนื่อย ปวดเมื่อย ถ่ายเหลว เจ็บขณะกลืน
- อาจจะเกิดอาการแพ้แสง แพ้เสียงดัง คล้ายในผู้ที่ปวดศีรษะไมเกรน
- ในผู้ที่เป็นโรคปวดศีรษะอยู่แล้ว จะมีลักษณะของอาการปวดที่เปลี่ยนแปลงไปจากเดิม

ปวดศีรษะระหว่างติดโควิด-19 ควรทำอย่างไร?

          โดยปกติแล้วถ้าเกิดอาการปวดศีรษะจากการได้รับเชื้อโควิด-19 หรือจากการได้รับวัคซีนอาการจะค่อยๆ ดีขึ้นภายใน 1 สัปดาห์ สามารถรับประทานยาแก้ปวด เช่น พาราเซตามอลได้

          ในกรณีที่รับประทานยาพาราเซตามอลแล้วยังไม่สามารถควบคุมอาการปวดได้ อาจต้องพิจารณาใช้ยาแก้ปวดบรรเทาอาการอักเสบที่ไม่ใช่สเตียรอยด์

ขอบคุณข้อมูลจาก:
นพ.กีรติกร ว่องไววาณิชย์
อายุรแพทย์โรคสมองและระบบประสาท (โรคปวดศีรษะและใบหน้า) ศูนย์สมอง รพ.กรุงเทพอินเตอร์เนชั่นแนล

Powered by MakeWebEasy.com
เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ เพื่อเพิ่มประสิทธิภาพและประสบการณ์ที่ดีในการใช้งานเว็บไซต์ของท่าน ท่านสามารถอ่านรายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว  และ  นโยบายคุกกี้